ไฮไลท์
- ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน (China-ASEAN Business Center – CABC) เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลกว่างซีที่ตอบสนองความต้องการและเสริมประสิทธิภาพการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง ในฐานะแหล่งรองรับการลงทุนที่มีศักยภาพสูงระหว่างจีนกับอาเซียน
- จุดเด่นด้านที่ตั้งของ CABC อยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง อยู่ใกล้กับโซนการเงินจีน-อาเซียน (China-ASEAN Financial Town) และเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรนครหนานหนิง (Nanning Comprehensive Bonded Zone) มีระบบสาธารณูปโภคครบครันและทันสมัย
- ด้านฟังก์ชันของ CABC ครอบคลุมเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนหลายด้าน หลายฟังก์ชันได้เปิดให้บริการแล้ว อาทิ ศูนย์บริการสำหรับนักลงทุนต่างชาติในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ศูนย์บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Country of Origin) ศูนย์บริการสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ศูนย์บริการของสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) ซึ่งมีฟังกชันด้านอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าอยู่ด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เปิดใช้งานอาคารที่ทำการ “ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Business Center – CABC / 中国-东盟经贸中心) อย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง นครหนานหนิงแล้ว โดยศูนย์ดังกล่าวมีกลุ่มบริษัท Guangxi International Expositions Group (广西国际博览集团) เป็นผู้รับดำเนินกิจการ โดยคณะกงสุลอาเซียนในนครหนานหนิง ได้เข้าร่วมพิธีเปิดฯ ด้วย
ศูนย์ CABC เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลกว่างซีที่ตอบสนองความต้องการและเสริมประสิทธิภาพการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง ในฐานะแหล่งรองรับการลงทุนที่มีศักยภาพสูงระหว่างจีนกับอาเซียน
ตามรายงาน ศูนย์ CABC มีพันธกิจสำคัญ ดังนี้
(1) เป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมความร่วมมือและการบริการด้านเศรษฐกิจและการค้าแบบครบวงจรระหว่างจีน-อาเซียน พร้อมเปิดรับองค์กร สมาคม ผู้ให้บริการด้านพาณิชย์ (third party service provider) และภาคธุรกิจรายสำคัญให้เข้ามาจัดตั้งสำนักงานในอาคารที่ทำการ
(2) เป็นสะพานเชื่อมโยงการลงทุนแบบสองทางระหว่างภาคธุรกิจจีนกับอาเซียนและเป็นแพลตฟอร์มการบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้ามแดน ห่วงโซ่คุณค่า และห่วงโซ่อุปทานของภาคธุรกิจจีน-อาเซียน
(3) สร้างแบรนด์กว่างซีและชูจุดแข็งของกว่างซี โดยใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์แห่งชาติที่กว่างซีได้รับจากรัฐบาลกลาง อาทิ เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง ประตูการเงินสู่อาเซียน เขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน (Integrated Pilot Zones for Cross Border e-Commerce/中国跨境电子商务综合试验区) และระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกและทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC / 西部海陆新通道)
(4) เป็นตัวจักรขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo – CAEXPO) สร้างห่วงโซ่คุณค่าให้กับงานดังกล่าว ยกระดับธุรกิจบริการสมัยใหม่และการค้าบริการของนครหนานหนิงให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น และขับเคลื่อนกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมและการลงทุนของอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย